|
|
การรับบุตรบุญธรรม (Adoption)
|
การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมส่วนใหญ่จะมาจากเจตนาดี ความสงสาร หรือความต้องการที่จะเกื้อหนุนกันในกลุ่มเครือญาติ แต่ต่อมาการรับบุตรบุญธรรมก็แพร่ขยายกว้างขวาง ออกไปสู่บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะรับเด็กไว้ในอุปการะ เช่น ในครอบครัวที่ไม่มีบุตร ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ ดังนั้นหากปล่อยให้การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม กระทำได้อย่างเสรีไม่มีการควบคุม อาจมีผู้ถือโอกาสหาประโยชน์จากการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้ รัฐบาลจึงได้ตราพระราชบัญญัติการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กเป็นสำคัญ และป้องกันการค้าเด็กในรูปของการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
นอกจากนี้ ในบางกรณีผู้รับบุตรบุญธรรมและเด็กอาจไม่เคยพบเจอกันมาก่อน เช่น การแสดงความจำนงขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมจากสถานสงเคราะห์ เด็กและผู้รับย่อมไม่คุ้นเคยกัน กฎหมายจึงกำหนดมาตรการหนึ่งขึ้นมาเพื่อให้โอกาสผู้รับบุตรบุญธรรมและเด็กสร้างความคุ้นเคยกันเสียก่อนที่จะมีการตกลงปลงใจจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม มาตรการดังกล่าวคือการกำหนดให้มีการทดลองเลี้ยงดูเด็กเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อทดสอบว่าผู้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเลี้ยงดูเด็กหรือไม่ อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในระหว่างเครือญาติ กฎหมายก็ยกเว้นให้ไม่ต้องทดลองเลี้ยงดูเด็กก่อน เพราะมีความเชื่อว่าบุคคลที่เป็นญาติของเด็กย่อมจะไม่คิดร้ายต่อเด็ก และรวมถึงกรณีที่ผู้รับบุตรบุญธรรมและเด็กไม่ใช่ญาติทางสายเลือด หากแต่เป็นบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันโดยผลของกฎหมาย เช่น เด็กนั้นเป็นบุตรบุญธรรมของคู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรมเอง หรือ อาจเป็นบุตรที่ติดมาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีเช่นนี้ย่อมวางใจได้ว่า ผู้รับบุตรบุญธรรมน่าจะต้องมีเจตนาจริงใจในการรับบุตรบุญธรรม ดังนั้นใน พ.ศ. 2533 จึงมีการแก้กฎหมายเพิ่มข้อยกเว้นไม่ต้องทดลองเลี้ยงดูเด็ก ให้ขยายไปถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งจะรับบุตรบุญธรรมหรือบุตรที่ติดมาของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของตนไม่จำต้องมีการทดลองเลี้ยงดูเด็กก่อน
แต่หากเป็นการรับบุตรบุญธรรมระหว่างประเทศ กระบวนการในการดำเนินการก็จะแตกต่างกันออกไปตามคุณสมบัติของผู้ขอรับบุตรบุญธรรม |
|
|
|
|
Copyright © 2001-2022 Chaninat & Leeds สำนักกฎหมาย ชนินาฏ แอนด์ ลีดส์
เลขที่ 10/154 อาครเทรนดี้ ออฟฟิศ ชั้น 18 ถนนสุขุมวิท ซอย 13 แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ โทร : +662 168 7001 - 3 แฟกซ์: +662 168 7004
(Disclaimer: The information provided on this site is for informational purposes only. No warranty is expressed or implied. Before taking any legal action,
persons are advised to seek the advice of a lawyer qualified in the area of law concerned.)